AI Technology

20.05.2025

AI กับงานพยาบาล ผู้ช่วยที่สามารถเตือนก่อนเกิดโรคได้

แม้วิทยาการทางด้านการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่เข้าถึงบริการได้ยาก เช่น พื้นที่ชายขอบ เป็นต้น ที่ผ่านมาเราจึงเห็นการพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้อุดรอยรั่วตรงนี้ อย่างการนำระบบวิดีโอคอลให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัย แต่ก็ยังสู้พบหมอซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้อยู่ดี กระทั่ง AI พัฒนาอย่างมาก จึงสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับงานพยาบาลได้อย่างลงตัว ที่สำคัญมันสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าผู้ป่วยจะเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรในอนาคต ฉะนั้นจึงตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้

AI ทำนายโรคได้อย่างไร
การทำงานของ AI คือนำข้อมูลทุกอย่างมาประมวล ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ก็ถูกบันทึกไว้อย่างมากมาย ฉะนั้นเมื่อ AI ทราบถึงอายุ เพศ น้ำหนัก พันธุกรรม ความดันโลหิต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลตรวจของบุคคลนั้น ๆ ในอดีต ประวัติการพบแพทย์ การออกกำลังกาย พฤติกรรมประจำวัน ก็สามารถนำไปประมวลผลกับข้อมูลทางการแพทย์ได้ว่า บุคคลนั้นจะเกิดโรคอะไร ควรปรับตัวอย่างไร เป็นต้น หากเปรียบง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ วิชาโหราศาสตร์ ที่เก็บสตถิติของราศีต่าง ๆ เอาไว้เป็นร้อยปี แล้วมาทำนายทายทักนั่นเอง แต่กรณี AI เป็นวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์จากข้อมูลจริง จึงแม่นยำและน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

AI ในงานพยาบาลกับชีวิตจริง
เมื่อพูดถึง AI กับงานพยาบาล บางท่านอาจมองไปเฉพาะที่โรงพยาบาล เช่น AI Healthcare Agent ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ NVIDIA ที่พัฒนาออกมาเป็นรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน มีอวตารเป็นพยาบาลสาวแสนสวยคอยติดตามอาการผู้ป่วย ถามไถ่ว่ากินยาหรือยัง อาการเป็นอย่างไรบ้าง หากรู้สึกไม่สบายตัวต้องทำอย่างไร ฯลฯ แต่ AI สามารถประยุกต์เข้ากับอุปกรณ์ IT ใกล้ตัวได้ เช่น นาฬิกา (wearable device) ที่ใช้สำหรับวัดชีพจร แล้ววิเคราะห์ว่าในอนาคตอาจมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง และแอปพลลิเคชั่นมือถือ ที่สามารถช่วยจัดตารางยา เตือนผู้ป่วยให้กินยาตามกำหนด รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้ เป็นต้น

AI กับงานพยาบาลของประเทศไทยในอนาคต
เราอาจจะเคยสัมผัส AI ในงานพยาบาลมากันบ้างในมิติต่าง ๆ กัน เช่น AI ต้อนรับในโรงพยาบาล, AI ตอบคำถามสุขภาพในแอปพลิเคชั่นมือถือ เป็นต้น แต่ในอนาคตอันใกล้ ระบบ AI จะมีบทบาทสำคัญต่อวงการแพทย์ในไทย เพราะอย่างที่เอ่ยข้างต้นว่า AI ต้องอาศัยข้อมูลมาวิเคราะห์ ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้พัฒนา Medical AI Data Platform ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้ AI โดยเชิญชวนให้โรงพยาบาลทั่วประเทศร่วมแชร์ข้อมูล โดย DATA เหล่านี้ สามารถนำไปพัฒนา AI ได้อีกหลายสาขาทางการแพทย์ รวมทั้งสร้างความแม่นยำในการวิเคราะห์ และคาดการณ์โรค ณ เดือนเมษายน 2568 มีสมาชิกเข้าร่วมขับเคลื่อนแล้ว 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช คาดว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็น AI ที่จะยกระดับวิทยาการทางการแพทย์ไทยกันในเร็ว ๆ นี้

อ้างอิง
https://www.nectec.or.th/news/news-pr-news/medical-ai.html
https://www.matichonweekly.com/column/article_757598
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JRTAN/article/download/263603/179945/1124379

RECOMMEND