AI Technology

26.06.2025

คลายปัญหาคาใจลิขสิทธิ์งาน AI ใครเป็นเจ้าของ และควรใช้อย่างไร

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีบทบาทสำคัญในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือการศึกษา AI ที่มากับแพลตฟอร์มโซลูชั่นต่าง ๆ แน่นอนว่าบริษัทผู้ให้บริการเขาพัฒนาขึ้นมา มีเครื่องหมายการค้าชัดเจน เมื่อผู้ใช้ ซื้อหรือเช่าเพื่อใช้บริการย่อมไม่มีปัญหาคาใจอะไร แต่งานประเภทภาพ คลิปวิดีโอ หรือบทความ ที่ Gen มาจาก AI นี่ล่ะ มีลิขสิทธิ์หรือไม่

ลิขสิทธิ์ AI
ก่อนไปถึงเรื่องลิขสิทธิ์ AI เรามาดูกันก่อนว่า เจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้มีหลักการทำงานอย่างไร, ความเชี่ยวชาญ ความสามารถของ AI คือ เรียนรู้ข้อมูลทุกอย่างบนโลกใบนี้ แล้วนำมาสร้างเป็นผลงาน เช่นเดียวกับมนุษย์กว่าจะสร้างสรรค์งานภาพวาดได้จนเป็นที่ยอมรับ ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ฝึกฝน ลองผิดลองถูกจนเชี่ยวชาญ

AI เรียนรู้วิธีวาดภาพ เรียนรู้วิธีสร้างคลิปวิดีโอ และกลวิธีการเขียน ตลอดจนบุคลิก สไตล์ผลงานของศิลปินต่าง ๆ จาก DATA ทั่วโลก เมื่อเราสั่งให้มันสร้างงานศิลปะออกมา AI จึง Gen มาให้ได้อย่างสวยงาม

จากรูปแบบการเรียนรู้ของ AI จึงคล้าย ๆ มนุษย์ที่เกิดจากการฝึกฝน ฉะนั้นหากมนุษย์อย่างเรา ๆ ปลื้มศิลปินดัง ๆ สักคน แล้วใช้ชีวิตอย่างเขา วาดภาพสไตล์เดียวกับเขา ถามว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ย่อมตอบได้เลยว่า ไม่! จะละเมิดก็ต่อเมื่อก็อปปี้ภาพของเขานั่นเอง

เมื่อถามถึงงานศิลปะที่ AI สร้างขึ้นมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ผู้ตอบที่น่าเชื่อถือที่สุดย่อมหนีไม่พ้นกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเขาเคยโพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจไว้แล้ว สรุปได้ว่า…

งานที่สร้างสรรค์โดย AI “ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้” และหากงานลิขสิทธิ์ใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และ AI ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่าง กรณีสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (USCO) ที่เคยปฏิเสธการจดแจ้งลิขสิทธิ์รูปภาพการ์ตูนเรื่อง Zayra of the Dawn ด้วยว่า เพราะงานดังกล่าวไม่ได้สร้างสรรค์โดยมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีภาพลิงเซลฟี่ที่ชื่อว่า Naruto ศาลก็ตัดสินว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ระบุให้สัตว์มีสิทธิในผลงานสร้างสรรค์ และกฎหมายลิขสิทธิ์มีผลเฉพาะสำหรับงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น

ทั้งนี้แม้งานศิลปะจาก AI ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ แต่หากเราใช้ AI ไปก็อปปี้ ดัดแปลงจากต้นฉบับโดยตรง นั่นละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน หรือหากให้ AI ใช้ภาพดารา นักแสดง หรือบุคคลใด ๆ ที่เขาไม่ยินยอม ไปสร้างเป็นคลิปวิดีโอ สร้างเป็นภาพ แล้วแอบอ้างจนทำให้เสียชื่อเสียง นี่ก็อาจโดนข้อหาละเมิดสิทธิ์ และข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน

อีกหนึ่งตัวอย่างของการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้อง AI คือ กรณีของ Disney และ Universal จับมือกันยื่นฟ้อง Midjourney ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2568 โดยทั้ง 2 บริษัท ฟ้องต่อศาลว่า Midjourney นำต้นฉบับตัวละครของพวกเขาไปดัดแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Deadpool, Darth Vader, Shrek, Minions ฯลฯ หนักกว่านั้นคือ Midjourney ยังเก็บเงินจากสมาชิกเพื่อทำการ Gen ภาพที่ติดลิขสิทธิ์ด้วย ทั้ง 2 บริษัทจึงยื่นฟ้องเพื่อ “หยุดยั้งการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา”

ปัจจุบันหลายประเทศยังยึดหลักการว่า งานสร้างสรรค์จากมนุษย์เท่านั้นที่จดลิขสิทธิ์ได้ แต่ในอนาคตข้างหน้าแนวคิดนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ติดตามกันต่อไป

งานสร้างสรรค์จาก AI นำไปใช้เชิงพานิชน์ได้หรือไม่
งานในเชิงพานิชย์ก็คือการนำไปหารายได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นแพลตฟอร์ม AI มีผู้พัฒนาขึ้นมา บางแพลตฟอร์มให้ใช้ฟรี บางที่มีทั้งฟรี และเช่าเป็นรายเดือนรายปี ส่วนนี้ต้องอ่านข้อตกลงการใช้งานโดยละเอียด เพราะข้อตกลงของแต่ละแพลตฟอร์มแตกต่างกัน แต่ส่วนมากหากเป็นแบบจ่ายเงินก็ใช้ในเชิงพานิชย์ได้

เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของ AI ท้ายที่สุดแล้ว ข้อสำคัญ คือ การใช้อย่างมีคุณธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ความเป็นมนุย์ของใคร หากตั้งต้นด้วยเจตนาที่ดี เชื่อว่างาน AI หรือฝีมือมนุษย์ ย่อมส่งผลดีตามมา

—————————————————————————————

อ้างอิง
https://www.thaipbs.or.th/now/content/264
https://www.facebook.com/ipthailand/posts/pfbid071DHr8oo5eLqutnpk53VCKhPRc6jam7u4ZSCc4VAqc7CrrrNWGjM3w7H2A6Q3QM5l
https://tdri.or.th/2022/10/ai-art-raises-copyright-questions/
https://www.facebook.com/share/p/19FPc9KQFA/

 

RECOMMEND