AI Technology

02.07.2025

เมื่อ AI เข้ามาช่วยขจัดปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

การกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ (Bullying) มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ทางกาย เช่น ชกต่อย ตบตี ฯลฯ 2. ทางสังคม ได้แก่ การแบน กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม ฯลฯ 3. ทางวาจา ก็เช่น การเยาะเย้ย นินทา ว่าร้ายใส่กัน ฯลฯ และ 4. ทางออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี่ (Cyber Bullying) ก็คือทั้ง 3 ประเภทที่ยกมา เพียงแต่ย้ายเข้าสู่ออนไลน์ เมื่อถามว่า การตบตีกระทำผ่านออนไลน์ได้ด้วยหรือ? ตอบว่า ได้! เพราะการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นทำให้เจ็บปวดทางจิตใจ และหลายครั้งก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย

การรับมือไซเบอร์บูลลี่
หลักการเบื้องต้นเมื่อถูกไซเบอร์บูลลี่ คือ
นิ่งไว้ เพราะคนบูลลี่ต้องการเห็นเราโกรธ หากเรานิ่งไม่คอมเม้นต์ตอบ เขาก็จะเบื่อและหยุดไปเอง
– ตอบอย่างสุภาพ หากเขายังไม่หยุด เราควรบอกอย่างสุภาพว่า สิ่งที่เขาทำนั้น เราไม่ชอบ ขอให้หยุด
– ปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจ อย่าเก็บไว้คนเดียว ปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู จิตแพทย์ หรือเพื่อน

นอกจากการรับมือด้วยตัวเองแล้ว คิดว่าผู้อ่านคงมีประสบการณ์ร่วมกันเมื่อคอมเม้นต์ หรือโพสต์เนื้อหาทางโซเชียลมีเดีย เพราะบางคำ แพลตฟอร์มจะบล็อกไม่ให้เราโพสต์ เช่น คำหยาบ หรือคำที่ส่อไปทางรุนแรง เช่น ฆ่า ปืน ตาย เป็นต้น

การบล็อกคำที่ว่า ก็คือ ระบบเอไอที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นมา ซึ่งบางครั้งก็เถรตรงจนไม่มองบริบท ทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ สำหรับผู้เขียนเอง ใช้ถอดเสียงบันทึกการประชุม ด้วยฟังก์ชั่นในแพลตฟอร์ม google docs บ่อย โดยฟังเสียงประชุมแล้วพูดให้ google docs แปลงเป็นอักษร ทุกครั้งที่มีคำว่า เชี่ยวชาญ ระบบใส่ ** แทน ชี่ย เสมอ

AI สำหรับต่อต้านการกลั่นแกล้ง
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการพยายามนำ AI มาช่วยเรื่องนี้ เช่น ระบบคัดกรองคำคอมเม้นต์ในสื่อโซเชียลมีเดียตามที่ยกมาข้างต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ที่วิจัยสมองของคนที่ต้องการฆ่าตัวตายว่ามีความคิดอย่างไร โพสต์อย่างไร เป็นต้น ซึ่งผลของการวิจัยสามารถต่อยยอดไปสู่การพัฒนาเอไอของโซเชียลมีเดียให้คอยจับคำโพสต์ คำคอมเม้นต์ของผู้ใช้ว่าหากเข้าข่ายการถูกบูลลี่ หรือการฆ่าตัวตาย ก็จะส่งบอทให้คำปรึกษาเข้ามาประมาณนี้

นอกจากนี้ทั้ง google, IBM รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ล้วนนำเอไอมาตรวจสอบคำที่สื่อไปถึงการบูลลี่อย่างสม่ำเสมอ และวิจัยอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว การกลั่นแกล้งนั้นอยู่ที่จิตสำนึก ไม่มีใครอยากถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่ชอบถูกแกล้ง คนอื่นก็ย่อมไม่ชอบเช่นกัน

———————————————————————————-

อ้างอิง
https://www.facebook.com/bullyingth/photos
https://thematter.co/thinkers/ai-vs-cyberbullying/91040
https://www.matichon.co.th/weekly/featured/article_171767

RECOMMEND