จากบทความก่อนหน้า “สร้างโอกาสทางธุรกิจ เสริมศักยภาพให้เหนือชั้น ด้วย AI for Business” เราได้เห็นความสำคัญ ประโยชน์ และโอกาสของ AI ในธุรกิจกันแล้ว บทความนี้ยังคงอยู่ต่อกับ ดร.ภมรพล ชินะจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอเจ็น จำกัด กับประเด็นที่ผู้อ่านหลายท่านอยากทราบ นั่นคือ วิธีเลือกใช้ AI ให้เหมาะสมกับองค์กร
วิธีการพิจารณาเลือกใช้ AI ให้เหมาะสมกับธุรกิจ
ดร.ภมรพล แนะนำวิธีพิจารณาเลือกใช้ AI ให้เหมาะสมกับธุรกิจว่า ให้มอง Pain Point หรือ จุดอ่อนขององค์กรเป็นอันดับแรก ไม่อยากให้มองว่าอยากใช้ AI แล้วก็ต้องใช้ให้ได้ เพราะจะทำให้ได้ AI ที่ไม่เหมาะสมมาใช้งาน
“อยากให้ดูว่าในธุรกิจของเรามันมี Pain Point อะไร หรือมีโอกาสอะไรที่จะ Improve ได้ แล้วก็มาดูสิว่า AI มาช่วยตรงนั้นได้ไหม ซึ่งถ้า match กัน มันก็จะได้ผลดีที่สุด”
เมื่อสำรวจจุดอ่อน และโอกาสที่สามารถนำ AI มาแก้ไขหรือส่งเสริมแล้ว ต่อมา ดร.ภมรพล แนะนำให้ดูโครงสร้างขององค์กร โดยชี้ให้เห็นภาพว่า โอกาสของ AI มี 4 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ส่วนของการเข้าหาลูกค้าและได้มาซึ่งลูกค้า (Customer facing / Everyday AI) ส่วนนี้ ดร.ภมรพล อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราทำธุรกิจซื้อมาขายไป แปลว่า Operation ที่สำคัญที่สุด ก็อาจจะเป็นเรื่องของการไปหาลูกค้า ดังนั้นต้องมองว่าจะหาลูกค้าอย่างไร เมื่อเจอแล้ว ต้องทำอย่างไรให้ขายได้ กระบวนการติดต่อลูกค้านี้อาจทำเป็น customer onboarding สามารถนำ AI เข้ามาช่วย หรือเป็น Chat bot ช่วยเสริมก็ได้”
2. ส่วนของการทำงานประจำหลังบ้าน (Back office / Everyday AI) คือ การทำงานภายในขององค์กร เช่น การบริหาร การทำงานประจำของพนักงาน การจัดการงานเอกสาร เป็นต้น
3. ส่วนของ game changing ซึ่งต้องโฟกัสที่สินค้า และกลยุทธ์การตลาด (Customer facing / Game-changing AI)
4. ส่วนของ game changing ที่เป็นงานหลังบ้านใน core operation เช่น การทำเคลมของประกันถือเป็น core operation ที่สำคัญของธุรกิจประกัน
จากที่ ดร.ภมรพล แบ่งโอกาสของ AI เป็น 4 ส่วนทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า สามารถนำ AI เข้ามาเสริมในส่วนไหนได้บ้าง ซึ่งภาพของแต่ละส่วนจะค่อย ๆ ขยายชัดขึ้นจากเทคนิคต่าง ๆ ในหัวข้อถัดไป ขั้นตอนต่อไปคือ Think Big. Start Small
Think Big. Start Small. ใช้ AI ควรคิดให้ไกล แล้วดำเนินทีละขั้นอย่างมั่นคง
ดร.ภมรพล แนะนำว่าการใช้งาน AI ต้องคิดใหญ่ มองไกล แต่ให้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการ Think Big. Start Small.
“เวลาเราเอา AI มาใช้ อยากแนะนำให้มองภาพใหญ่ว่าเมื่อนำ AI เข้ามาแล้ว สุดท้ายอยากให้องค์กรเป็นแบบไหน AI ช่วยอย่างไรได้บ้าง ให้มองภาพใหญ่อย่างนี้ แต่ว่าตอน implement จริง ผมอยากให้ย่อยลงไป อยากให้ทำทีละส่วน”
“ยกตัวอย่าง การเคลมประกัน การเคลมประกันมีหลายขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องทำ AI ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เราควรซอยย่อยแบ่งเป็นเฟส ๆ เช่น ส่วนแรกเป็นเรื่องของเอกสาร เอกสารที่ลูกค้า หรือโรงพยาบาลส่งเข้ามา มีทั้งบัตรประชาชน Invoice ฯลฯ ต้องมีการตรวจสอบ ดังนั้นส่วนนี้ใช้ AI มาตรวจสอบเอกสารได้ไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วจะเริ่มตรงไหนก่อนก็ได้ ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก แต่ขอให้ซอยย่อย เพราะสุดท้ายแล้วก็ให้ AI มาขับเคลื่อนทั้งหมดอยู่ดี แต่ว่าขอให้ฝันให้ไกลแล้วก็ค่อย ๆ ทำ”
นอกจากนี้ ดร.ภมรพล ยังชวนมองว่า AI ไม่ได้ใช้ได้กับทุกขั้นตอนการทำงาน เช่น นักรังสีวิทยา ซึ่งหน้าที่ของนักรังสีวิทยาไม่ใช่แค่เอกซเรย์ และอ่านค่าแผ่นฟิล์ม แต่ยังมีหน้าที่ทักทาย เชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย สืบค้นประวัติการรักษาเพื่อนำมาประกอบคำพิจารณา ดังนั้น part ของการตรวจฟิล์ม กับเขียนรายงาน ก็สามารถใช้ AI ทำได้ ส่วนอื่น ๆ ก็ให้นักรังสีวิทยาปฏิบัติหน้าที่ต่อ การเห็นรายละเอียดการทำงานอย่างนี้ จะช่วยให้นำ AI มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกประการหนึ่งที่ ดร.ภมรพล แนะนำ คือ ให้มองว่า AI เป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่นเท่านั้น ไม่ใช่ว่า AI ตัวเดียวตอบโจทย์ทั้งหมด
“ให้นึกภาพ Chat bot สมมติเราถามคำถามไป มันก็จะไปดึงข้อมูลจาจกอินเตอร์เน็ตทั่วโลกมาตอบให้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีเรื่องของ disclaimer เข้ามาร่วม ซึ่งมันอาจจะตอบผิดก็ได้ อย่าง ChatGPT จึงมีคำเตือนว่า คำตอบที่ได้อาจจะมีข้อผิดพลาด ในส่วนนี้ถ้ามองว่า AI ตัวเดียวตอบโจทย์ทั้งหมด เท่ากับว่าเราก็โยนทุกอย่างให้ Chat bot แล้วนำคำตอบส่งให้ User ใช้ ส่งให้ผิดเขาก็ไม่รู้ ดังนั้นจึงต้องมีคนคอยดูแล หรือเป็น audit หรือ Feedback ด้วย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของโซโลชั่นที่จะทำให้งาน complete ขึ้น”
AI กับคนควรทำงานร่วมกัน
อีกหลักการหนึ่งของการใช้งาน AI นอกจากมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่นแล้ว เมื่อ AI มีโอกาสผิดพลาดได้ จึงควรมีคนคอยตรวจสอบที่เรียกว่า Human in the loop ควบคู่ไปด้วย เพราะว่าส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวง เขาก็จะมองว่า AI กับคนต้องทำงานด้วยกัน ซึ่ง AI ก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่มาช่วยให้คนทำงานได้เร็วขึ้น Active มากขึ้น Part ไหนที่คนไม่ถนัดก็ให้ AI ทำ แล้วคนก็มาทำหน้าที่คอยตรวจสอบดูแล ในทางกลับกันส่วนไหนที่ AI ไม่ถนัด คนก็รับหน้าที่ทำแทน
ข้อดีของการเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ
AI แม้จะอยู่ในการรับรู้ของสังคมส่วนใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจยังถือว่าใหม่ หลายองค์กรยังไม่เคยใช้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้น ดร.ภมรพล จึงแนะนำว่าให้เริ่มจากเล็ก ๆ และ Quick Win
“เริ่มต้นจากอะไรเล็ก ๆ ก่อน สมมติเราอยากมี Chat bot ใช้ภายในองค์กร ใช้สำหรับตอบคำถามของทุกคนในองค์กร และต้องตอบตรงตามความต้องการด้วย อยู่ ๆ จะมา Set up ทั้งหมดเลยก็คงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน จะดีกว่า เช่น เริ่มจากแผนก HR สร้าง Chat bot ขึ้นมาเพื่อตอบคำถามที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของพนักงาน มันก็จะง่ายกว่า เมื่อแผนกอื่น ๆ เห็นว่าดี ก็ค่อย ๆ ขยับไป ส่วนนี้เป็น Quick Win เพราะความสำเร็จนี้จะกลายเป็นกำลังใจให้ทีมอื่น ที่เมื่อเห็นว่าทีมนี้มีใช้ก็ดีเหมือนกันนะ ฉันก็อยากจะมีใช้บ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องของการขยายผลที่ใช้ได้”
วิธีเตรียมตัว และปรับองค์กรเพื่อใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับวิธีการเตรียมตัว และปรับองค์กรเพื่อใช้ AI ให้เกิดประโชน์สูงสุด ดร.ภมรพล เสนอไว้ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. องค์กรต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพราะ AI ทำงานบนระบบดิจิทัล
2. องค์กรต้องทำเรื่อง Digital Transformation ก่อน
3. คนในองค์กรต้องมีความพร้อม
จากการเตรียมความพร้อมทั้ง 3 ขั้นตอน ข้างต้น ดร.ภมรพล อธิบายการเตรียมตัวเพิ่มเติมว่า
ควรมีการ re-design และการวางแผนการทำงานร่วมกันกับ AI
“AI แม้เก่งมาก แต่ถ้าเราไม่ปรับอะไรเลย มันก็จะทำงานได้ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการอ่านเอกสารที่สแกนมาแล้วเปลี่ยนเป็น Text บางครั้งเอกสารอาจมีตรายางปั๊มมา ซึ่งต่อให้เป็น AI ก็อ่านตราปั๊มยาก จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ แต่ถ้าเราปรับ Process สักนิดหนึ่ง มันก็จะช่วยได้ กรณีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่า AI อ่านตราปั๊มไม่ค่อยดีนะ เราก็ปรับเป็นว่า ถ้ามีเอกสารที่มีตราปั๊มมาก็ให้พิมพ์ หรือแปะโค้ดอะไรบางอย่างไว้ ดังนั้นงานมันจะไหลผ่านได้หมดเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีการ re-design กระบวนการการทำงานสักนิด เพื่อให้ทำงานเข้ากับ AI ได้ดี”
ควรเลือก AI ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน
นอกจากการ re-design แล้ว การเลือก AI ให้เหมาะสมกับธุรกิจก็มีความสำคัญ ดร.ภมรพล กล่าวว่า “สิ่งสำคัญ คือ AI ต้องมีการ Training แต่บางธุรกิจใช้ AI สำเร็จรูป ดังนั้นจึงต้องเลือก AI ที่เหมาะกับลักษณะธุรกิจด้วย เช่น นำมาใช้เพื่ออ่านบัตรประจำตัวประชาชน เราก็ต้องรู้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนที่ถูกส่งเข้ามาในธุรกิจมีหลากหลายมาก เช่น อาจถ่ายรูปมาให้ สแกนมาให้ หรือสแกนมาพร้อมกับเอกสารอื่นก็ได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่า AI ทุกตัวสามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ ดังนั้นต้องมีกรอบของ Data ของเรานิดหนึ่งว่า มันเข้ากันกับความสามารถของ AI ที่จะนำมาใช้หรือเปล่า”
1 งาน อาจต้องใช้ AI ถึง 2 ตัว
บางกรณี AI เพียงตัวเดียวอาจเอาไม่อยู่หรือไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เช่น AI สำหรับการตรวจสอบสภาพรถยนต์ AI ที่ Train มาสำหรับตอนรับทำประกัน กับตอนเคลม อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะตอนที่รับทำประกัน ลูกค้ามักจะถ่ายภาพมุมกว้าง ห่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่เห็นรอยขีดข่วน หรืออะไรที่เสียหายอยู่ก่อนหน้า แต่พอเคลม ก็จะ Zoom เพื่อให้เห็นรอยมากที่สุด พฤติกรรมคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น Data หรือ AI ที่ใช้ในแต่ละด้านก็ต้องไม่เหมือนกันด้วย จึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับขั้นตอนนั้น ๆ
วิธีเตรียมความพร้อมของคนในองค์กรเพื่อใช้ AI
การเตรียมความพร้อมของคนในองค์กร เพื่อใช้ AI ดร.ภมรพล แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การขับเคลื่อนจากระดับผู้บริหาร ลงมาที่ระดับพนักงาน (Top to Bottom) การเปิดใจเรียนรู้รับสิ่งใหม่ และการปรับใช้ KPI
“ผู้นำองค์กร ต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นคนจี้ หรือฟันธงว่าจะทำ เพราะว่าคนข้างล่างมีแรงเฉื่อยอยู่แล้ว แน่นอนคนข้างล่างก็ต้องเปิดใจด้วยว่า ต้องเรียนรู้วิธีใหม่ ๆ แต่ในความเป็นจริง เราจะเห็นได้ว่า คนหน้างานเขาก็จะมี Routine ที่ยุ่งอยู่แล้ว ไม่มีเวลามาเปลี่ยนหรอก ในทางกลับกันถ้าเขาลองเปิดใจใช้แล้ว ก็จะเริ่มชิน และจะรู้ว่ามันทำให้ชีวิตดีมากขึ้น ดังนั้นคนหน้างานก็ต้องเปิดใจด้วยเช่นกัน”
“สำหรับวิธีการที่จะส่งเสริมให้พนักงานเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ คือ ต้องมาดูที่ KPI เพราะถ้าเขาจดจ่ออยู่แต่กับงานประจำ แสดงว่า โบนัส หรือ KPI ของเขาผูกอยู่กับสิ่งนั้น เขาจึงไม่ได้มีความสนใจที่จะมาเรียน AI ดังนั้นผู้บริหารก็ต้องมีการปรับ KPI ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นกัน”
AI solutions ต่าง ๆ จาก AI GEN
ปัจจุบัน AI GEN พัฒนาโซลูชั่น AI ออกมาอย่างหลากหลาย ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ โซลูชั่นเด่น ประกอบด้วย
aiSCRIPT แพลตฟอร์มประมวลผลเอกสาร
aiSCRIPT เป็นแพลตฟอร์มดึงข้อมูลจากเอกสารแล้วไปประมวลผลทางธุรกิจ สามารถดึงได้ทั้งไฟล์ที่สแกนมา ไฟล์ PDF ไปจนกระทั่งรูปถ่าย ไม่ว่าเอกสารจะมาในรูปแบบไหน AI ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเอกสารประเภทใด โดยเฉพาะเอกสารพื้นฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบแจ้งหนี้ Book Bank ใบรับรองเงินเดือน Bank Statement
ตัวอย่างการอ่าน และดึงข้อมูลจากเอกสารของ aiSCRIPT เช่น สามารถดึงชื่อนามสกุล เลขที่บัตร วันเดือนปีเกิด วันที่บัตรหมดอายุ ฯลฯ จากบัตรประจำตัวประชาชน มาแปลงเป็น Text แล้วจัดเก็บในระบบได้ หรือหากเป็นระบบประกันภัย มันสามารถเช็คได้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนกับใบมรณะบัตรมีข้อมูลตรงกันหรือไม่ ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในฟอร์มกับบัตรประจำตัวประชาชนตรงกันไหม เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น aiSCRIPT ยังสามารถส่งข้อมูลไปยังปลายทางอย่าง ERP หรือเขียนลง Excel sheet ที่ไหนก็ได้
aiLending ผู้ช่วยอนุมัติสินเชื่อ
aiLending มีความสามารถในเรื่องการสนับสนุนการพิจารณาสินเชื่อ โดยสามารถดึงข้อมูลบุคคลออกมาได้อย่างละเอียด ชนิดที่รายงานได้เลยว่า คนที่ขอสมัครเงินกู้ มีสร้างข้อมูลเท็จตรงไหนหรือเปล่า เงินเดือนเข้าตรงวันที่อ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น
aiClaim นักตรวจสอบรายการเคลมประกัน
aiClaim เป็นผู้ช่วยมือฉมังด้านการพิจารณาเคลมประกันสุขภาพ เมื่อบริษัทได้รับใบเคลมจากโรงพยาบาลมา AI จะตรวจแล้วแจ้งว่ามีโอกาสเป็นเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ รายการยาสอดคล้องกับที่ผู้ทำประกันแจ้งมาไหม เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ป่วยเบิกยาจากโรงพยาบาลจนเกินความจำเป็นเพื่อนำไปขายต่อ
ความพิเศษของ aiClaim มีอีกอย่าง ตามที่ ดร.ภมรพล เล่า ดังนี้
“เมื่อก่อนบริษัทประกันไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องการจ่ายยาของโรงพยาบาล จำนวนยาและปริมาณที่จ่าย รวมทั้งข้อมูลว่าแต่ละโรงพยาบาลชาร์จค่ายาเท่าไร เมื่อใช้ aiClaim ทำให้เก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ ซึ่งสามารถนำไปสร้าง insight วิเคราะห์เพิ่มเติมได้ว่า เคลมของยาตัวนี้เป็นอย่างไร แพงขึ้นเท่าไร โรงพยาบาลไหนจ่ายแพงจ่ายถูกอย่างไร”
aiFace นักตรวจสอบใบหน้าตาทิพย์
aiFace คือ เทคโนโลยีสแกนใบหน้า ที่ AI GEN สอน AI ทั้งหมด สามารถตรวจจับใบหน้าได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถเชื่อมใบหน้าจากภาพ 2 ใบได้ แล้วก็สามารถพิสูจน์ว่าเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบว่าคนที่อยู่หน้ากล้องนั้นเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่การ print รูปเพื่อนมาโชว์แล้วก็พิสูจน์พร้อมกับบัตรประชาชนของเพื่อน เป็นต้น
aiSurvey นักสืบโซเชียล
aiSurvey เป็นโซลูชั่นทางด้านภาษา ที่ AI จะตรวจสอบ comment หรือ feedback ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้า และองค์กร โดย AI สามารถแยกได้ว่าประโยคไหนเป็นเชิงลบ หรือบวก หากเป็นเชิงลบก็จะส่งเข้าระบบ แจ้งเตือนผู้เกี่ยวข้องรีบแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างประโยคนี้ ‘หัวหน้าใจดีแต่ออฟฟิศบรรยากาศอึดอัด’ aiSurvey สามารถแยกได้อย่างฉลาดว่า หัวหน้าใจดี เป็นประโยคเชิงบวก ส่วนเชิงลบ คือ แต่ออฟฟิศบรรยากาศอึดอัด
aiChatbot ประชาสัมพันธ์มือโปร
aiChatbot มีลักษณะเป็น Chat bot คล้าย ChatGPT เพียงแต่ใช้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในองค์กรเท่านั้น สามารถ Support ข้อมูลให้พนักงานได้อย่างรวดเร็ว เช่น หากอุปกรณ์ออฟฟิศเสียจะต้องทำอย่างไร หรือใช้ตอบคำถามที่มักถูกถามบ่อย ๆ นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้ตอบคำถามแก่บุคคลภายนอกอีกด้วย
นิยามศัพท์ LLMs
ตั้งแต่บทความลำดับก่อนหน้า ผู้อ่านอาจสังเกตเห็นว่า นอกจาก AI แล้ว ในบทความยังมีการพูดถึง LLMs ด้วย แล้ว LLMs เกี่ยวข้องกับ AI อย่างไร ดร.ภมรพล อธิบายว่า
“LLMs ย่อมาจาก Large Language Models เป็น AI ที่ไปเรียนรู้ Pattern ลักษณะของภาษาต่าง ๆ ทุกภาษาเลยว่า มีโครงสร้างอย่างไร เช่น รูปประโยคของภาษาไทยมันก็จะทำความเข้าใจว่ามีประธาน กริยา กรรม แล้วก็มีวิธีการใช้คำอย่างไร LLMs ก็จะเรียนรู้ Pattern พวกนี้เก็บไว้หมดเลย มันจึงมีความสามารถในการแปลความหมายของคำถามที่เข้ามา หรือบางครั้งถ้ามันเคยเห็นข้อความแบบนี้แล้ว มันก็รู้แล้วว่าควรจะตอบอย่างไร นี่เป็นส่วนหนึ่งของ LLMs เท่านั้น จริง ๆ แล้วมันยังสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบของรูปประโยคได้อีกด้วย”
AI GEN ให้บริการครอบคลุมทุกธุรกิจ
ผู้อ่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า solutions ข้างต้นของ AI GEN ดูจะออกแนว support ธุรกิจด้านการเงิน หรือประกันภัยเป็นส่วนมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว กลุ่มลูกค้าของ AI GEN ครอบคลุมทุกแนวธุรกิจ โดย ดร.ภมรพล กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
“จริง ๆ แล้วลูกค้าเรามีหลากหลายมาก เพราะ Solution ของเราเกี่ยวกับพวกเอกสาร เช่น ใบแจ้งหนี้ นี่ก็แทบทุกอุตสาหกรรมต้องใช้ หรือการยืนยันตัวตนแบบ eKYC เดี๋ยวนี้ก็ใช้กันเยอะ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์หรือประกันเท่านั้น เพราะหลายบริษัทเน้นการทำงานออนไลน์มากขึ้น ติดต่อกับบุคคลภายนอกมากขึ้น จึงต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนเสมอครับ”
********